ความเกี่ยวข้องกับชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ของ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล)

การหลบหนีของพระญาติพระวงศ์สู่เมืองพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน นพศก ขณะที่กรุงศรีอยุธยาเกิดสงครามกับพม่าจวนจะเสียแก่ข้าศึก โดยมีทัพ “เนเมียวสีหบดี” กับทัพ “มังมหานรธา” เข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยา [31]สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา (คุณลา) ทรงหลบหนีไปอยู่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองอยู่โดยมี นายทองขวัญและนายแย้ม บุตรของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นผู้ติดตามมาด้วย [1] สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นพระสหายเก่าของเจ้าพระยาพิษณุโลก[1] จึงได้รับต้อนรับอย่างดีถึงกับสถาปนาบรรดาศักดิ์แก่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ขณะนั้นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกทรงมีราชทินนามว่าออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ กรมมหาดไทย) [17] เป็นอัครมหาเสนาบดี [32] ตำแหน่งสมุหนายกแคว้นพิษณุโลก มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ ศักดินา 10000 ดังปรากฏใน พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเซอร์ ยอน เบาริง (1969:62 - 63) ความว่า [33]

บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญอยู่ในกรุงหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เมื่อตอนสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ท่านผู้นี้คือ พระยาเกียรติ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดขุนแสน ได้มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงโกษาปานในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โดยเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส ต่อมาลูกหลานคนหนึ่งได้รับราชการกับเจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตก และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรเสมียนตรา พระอักษรเสมียนตรามีลูกหลานหลายคน คนที่ 4 เป็นชาย ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปู่ของพระองค์ท่าน

และตั้งนายทองขวัญ ผู้ติดตาม เป็นนายชำนาญ (กระบวน) นายเวรกรมมหาดไทย เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนสวรรคตก่อนที่จะเสียกรุง เนื่องจากทรงพระประชวร [17] [34]

ต่อมามีการตั้งชุมนุมขึ้นทั้งหมด 8 ชุมนุม [35] แบ่งเป็นชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม และชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม ดังนี้

ชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม

  • ชุมนุมพระยาตาก (สิน) หรือพระยาวชิรปราการ ตั้งอยู่ที่จันทบุรี
  • ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตเมืองพิชัย - เมืองนครสวรรค์
  • ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพร - มลายู
  • ชุมนุมเจ้าพิมาย (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก กรมหมื่นเทพพิพิธ) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองสระบุรี พิมาย ล้านช้าง กัมพูชา
  • ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง

ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม

  • ชุมนุมหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง) ที่ จ.สมุทรสงคราม ก่อนจะรวบเข้ากับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่กรุงธนบุรี ภายหลังปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์
  • ชุมนุมนายบุญส่งและพระยาธนบุรี ตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรี

ชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม

  • ชุมนุมสุกี้ (ชุมนุมชนชาติมอญ) หรือนายทองสุก ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือพื้นที่ ต.พุทเลา และ ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา)


ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมของขุนนางตามระบบจารีตของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งตัวเป็นผู้นำ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ถือเป็นชุมนุมหัวเมืองเหนือที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำน่าน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์และปากน้ำโพครอบคลุม 7 มณฑล คือ 1. เมืองพิษณุโลก (เมืองสรลวงสองแคว) 2. เมืองสุโขทัย (นครไทย) 3. เมืองศรีสัชนาลัย (เมืองสวรรคโลก หรือเมืองเชลียง หรือเมืองเชียงชื่น) 4. เมืองกำแพงเพชร (รวมเมืองนครชุม) 5. เมืองพิจิตร (รวมเมืองปากยม) 6. เมืองพระบาง และ 7. เมืองทุ่งยั้ง (เมืองพิชัย)หลังจากตั้งตนเองเป็นผู้นำชุมนุมแล้วได้มีบรรดาข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยามาสวามิภักดิ์ด้วยหลายนายเนื่องจากเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นผู้มีความสามารถในการสู้รบ เป็นขุนนางเก่าแก่ชั้นสูงในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีผู้นับถืออยู่มาก

ภาพแสดงที่ตั้งชุมนุมต่าง ๆ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)
1: ชุมนุมพระยาตาก (รวมกับชุมนุมสุกี้พระนายกอง)
2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
3: ชุมนุมเจ้าพระฝาง
4: ชุมนุมเจ้าพิมาย
5: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

เมื่อ พ.ศ. 2311 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข้อมูลจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เกี่ยวกับเจ้าพระยาพิษณุโลก ราวเดือนตุลาคม ฤดูน้ำหลากจึงยกทัพด้วยกำลังพล 15,000 นาย ไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรกซึ่งเป็นชุมนุมใหญ่ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย เขตเมืองนครสวรรค์ คอยดักซุ่มสกัดทัพ ครั้นกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ทหารฝ่ายชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 3 บันทึกว่า

เจ้าพระพิษณุโลก (เรือง) ได้ทราบข่าวศึก จึงแต่งให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพลงมาตั้งรับ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนมาต้องพระชงฆ์ข้างซ้าย จึงให้ล่าทัพหลวงกลับมายังกรุงธนบุรี

ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า

พระยาพิษณุโลกรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝนต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไปจึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรี

พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) บันทึกว่า

ในปลายปีชวดนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยกพยุหโยธาไทยจีน สรรพด้วยสรรพาวุธทั้งทางบกทางเรือ ขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าแข็งเมืองอยู่ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนกระสุนปืนเฉียดขาเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งนั่งเรือหน้าพระที่ นั่งผ้านุ่งขาด กระสุนเลยไปต้องพระองค์เบื้องซ้าย จึงได้ล่าทัพกลับพระนคร

บันทึกความทรงจำของ พระเจ้าไปยยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกไว้ว่า [36] [37]

ไปตีเกยชัย ถูกปืนไม่เข้า

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นับเป็นชุมนุมใหญ่ชุมนุมแรกที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีแล้วไม่สำเร็จ [38]ผลจากการที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สามารถเอาชนะชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทำให้พระยาพิษณุโลก (เรือง) ต้องการมีอำนาจหัวเมืองเหนือ [39] จึงตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์เป็น "พระเจ้าพิษณุโลก" [40] [41] ทำให้ขุนนางเก่าอยุธยาบางส่วนเกิดความไม่พอใจหนีไปเป็นบริวารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามที่ปรากฏ "มีชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรแตกมาสู่โพธิสมภาร" ความเข้มแข็งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพิ่มมากขึ้นเพราะได้ยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ต่อมาก็เสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีละลอกเดือน 11 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ด้วยเหตุเมืองพิษณุโลกขณะนั้นเกิดโรคห่าระบาดไปทั่ว [42] “พระเจ้าพิษณุโลก” ก็ถึงแก่อสัญกรรม “เจ้าพระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน พระชนมายุได้ 49 ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม” [17] [43] [44] [45] แต่ก็มีอีกหลักฐานที่ขัดแย้งกับเหตุผลของนิธิ เอียวศรีวงศ์ดังกล่าวว่า “กำเริบถือตัวมีบุญญาธิการ จึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินรับราชโองการอยู่ได้ประมาณ 7 วัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอ (โรคฝีละลอก) ถึงพิราลัย” [46] พระอินทร์อากร น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ไม่ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ ภายหลังเมืองพิษณุโลกอ่อนแอลงเนื่องจากพระอินทร์อากรไม่ชำนาญการรบและไม่เป็นที่นิยมของชาวเมือง แต่อย่างไรก็ตามมีหลายหลักฐานที่ไม่ได้ปรากฏนามของ พระอินทร์อากรและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีบางหลักฐานปรากฏว่าพระอินทร์อากรถูกเจ้าพระฝาง (เรือน) จับต้องโทษจนเสียชีวิต ต่อมาชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ขึ้นจนตีเมืองเมืองพิษณุโลกแตกไปในที่สุด


ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นชุมนุมของกบฏไพร่ ตั้งอยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีอาณาเขตทางเหนือถึงหัวเมืองแพร่และนาน เชื่อมต่อกับวัฒนธรรมระหว่างสยาม ล้านนา และล้านช้าง และอาณาณาเขตทางใต้ถึงหัวเมืองอุทัยธานี [47] รุกล้ำเข้าแดนเมืองชัยนาท ดังปรากฏ "ด้วยเหล่าร้ายนั้นยกลงมาตระเวน ตีเอาข้าวปลาอาหาร เผาเรือนเสียหายหลายตำบล ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความแค้นเคืองขัดสน” [48] ซึ่งอาณาเขตทางใต้ได้มาจากการที่ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ผนวกกับชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าพระฝาง (เรือน) ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” เพราะเป็นพระภิกษุที่ย่ำยีพระธรรมวินัย

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "เที่ยวตามทางรถไฟ" [49]กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี 1 ทาง ทางเมืองเชียงใหม่ 1 ทาง พม่าไม่กล้าไปตีเมืองพิษณุโลก ยกหลีกเลยมาทางเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลกยกกองทัพติดตามไปตีพม่า กำลังรบกันอยู่ทางเมืองพิษณุโลกมีพวกไทยด้วยกันชิงเมือง (หมายถึงเจ้าฟ้าจืด) เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงล่าทัพกลับไปรักษาเมืองตามเดิม ครั้นไม่มีพระราชาธิบดีปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งชุมนุม เจ้าพระฝางยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ต้องล้อมเมืองอยู่ 7 เดือนตีไม่ได้เมืองจึงล่าทัพกลับไป

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมายกกองทัพหมายจะตีเมืองพิษณุโลกแต่ก็ถูกปืนต้องล่าทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ทำพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เผอิญเกิดโรคที่ในคอ พอราชาพิเษกได้ 7 วันก็ถึงแก่พิราลัย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเห็นว่ายกตนเกินวาสนา เมืองพิษณุโลกจึงอ่อนแอลง เจ้าพระฝางได้ยกทัพมาอีกตั้งล้อมอยู่ 2 เดือนก็ได้เมืองพิษณุโลก

หมายเหตุ: หลวงโกษา (ยัง) เดิมเป็นเจ้าเมืองพิจิตร เป็นขุนนางที่สนิทสนมกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ซึ่งมาช่วยราชการในการสู้รบเสมอ หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รวบหัวเมืองและตั้งชุมนุมแล้วจึงแต่งตั้งให้หลวงโกษา (ยัง) เป็นทหารของตนเอง หลังจากชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) พ่าย จึงหลบหนีไปเมืองสวางคบุรีไปเป็นทหารของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน)

การปราบหัวเมืองเหนือ และการฟื้นฟูสู่กรุงธนบุรี พ.ศ. 2313

พ.ศ. 2313 [36] ตรงกับวันเสาร์เดือน 8 แรม 14 ค่ำ เดือนมิถุนายน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตี ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) และพม่า หัวเมืองเหนืออีกครั้งโดยแบ่งเป็น

  • 1. ทัพหลวงเป็นทัพเรือ กำลังพล 12,000 นาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงพิษณุโลกก่อนทัพบก 9 วัน ตีเมืองพิษณุโลกไปก่อน
  • 2. ทัพบกที่ 1 กำลังพล 5,000 นาย ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) (ขณะนั้นทรงบรรดาศักดิ์เป็น "พระยายมราช") เป็นแม่ทัพ เดินทัพไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่าน ซึ่งทัพบกที่ 1 เดินทางมาถึงก่อนทัพบกที่ 2 2 วัน
  • 3. ทัพบกที่ 2 กำลังพล 5,000 นาย ให้ เจ้าพระยาพิชัยราชา (ขณะนั้นบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาพิชัยราชา") เป็นแม่ทัพ ให้เดินทัพไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่านบรรจบกับทัพยกที่ 1 ที่พิษณุโลก

ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) นับเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เดินทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ไปตีเมืองสวางคบุรี เมื่อทัพบกของเจ้าพระยาพิชัยราชามาถึงจึงให้รีบไปช่วยทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ตีเมืองสวางคบุรี

วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 7 ค่ำ เมื่อตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว มีชาวเมืองสวางคบุรีส่วนหนึ่งหนีขึ้นไปล้านนา ส่งผลให้ "โปมะยุง่วน" ขุนนางพม่าเชื้อพระวงศ์ เป็นอุปราชอาณาจักรล้านนา เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นทรงทราบสถานการณ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถรวบรวมประเทศเป็นอาณาจักรเดียวกันเรียบร้อยแล้วนับจากวันที่เริ่มกอบกู้อาณาจักร 6 พฤศจิกายน 2310 เป็นเวลานาน 2 ปี 10 เดือน [36]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=vinitsiri... http://www.sammajivasil.net/sripen/sriphen.htm http://www.gotoknow.org/blogs/posts/155814 http://www.phyathaipalace.org http://www.navy.mi.th/navic/document/910802b.html https://writer.dek-d.com/lanzadeluz/story/view.php... https://www.facebook.com/ThailandhistoryOFwarehous... https://sites.google.com/site/thailandsurname/home... https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_94199... https://www.thairath.co.th/novel/Sailohit/ep6/page...